ป. 120/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
    • Dark
      Light

    ป. 120/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

    • Dark
      Light

    Article Summary

    คำสั่งกรมสรรพากร

    ที่ ป. 120/2545

    เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย


    เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้มี เงินได้หรือผู้ประกอบการที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำ ภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย สำหรับการเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

    ข้อ 1 คำว่า “ภาพยนตร์” หมายความว่า ภาพ เสียง รวมทั้งข้อความที่มีการ ถ่าย อัด หรือบันทึกไว้ในฟิล์มหรือวัสดุใด ๆ ที่สามารถถ่ายทอดออกมาให้เป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ในลักษณะต่อเนื่องกันด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์หรือเครื่องมืออื่นใด และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพยนตร์ที่ใช้เพื่อการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ด้วย

    คำว่า “ถ่ายทำภาพยนตร์” หมายความว่า การถ่าย อัด บันทึก หรือทำด้วยวิธีอื่นใดซึ่งภาพ เสียง หรือข้อความเพื่อให้เป็นภาพยนตร์

    คำว่า “คณะถ่ายทำภาพยนตร์” หมายความว่า ผู้ดำเนินการถ่าย อัด บันทึก หรือทำด้วยวิธีอื่นใดซึ่งภาพ เสียง หรือข้อความเพื่อให้เป็นภาพยนตร์

    คำว่า “นักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ” หมายความว่า นักแสดง ภาพยนตร์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ และเข้ามาแสดงภาพยนตร์ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

    คำว่า “เจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เช่น ผู้กำกับการแสดง ช่างภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค เป็นต้น

    คำว่า “ผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย” หมายความว่า ผู้ดำเนินการติดต่อประสานงานและกำกับการดำเนินงานของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

    ข้อ 2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ของตนเองในประเทศไทย โดยไม่มีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ ดังกล่าว กรณียังไม่ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

    ข้อ 3 การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย นักแสดงภาพยนตร์ ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ทั้งที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยและมิได้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นผู้มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร

    ข้อ 4 การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ ให้นำเงินได้ของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

    เงินได้ของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยเงินได้พึงประเมินหรือค่าตอบแทนจากการประกอบอาชีพนักแสดง ภาพยนตร์ต่างประเทศ รางวัลและประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการแสดง เช่น ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะจ่ายตามจำนวนคราวที่แสดง จ่ายเป็น การเหมา หรือจ่ายในลักษณะอื่นทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะซึ่งนักแสดง ภาพยนตร์ต่างประเทศได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น นักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศย่อมได้รับยกเว้นภาษี เงินได้สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะดังกล่าวตาม มาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร

    กรณีนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

    ตัวอย่าง

    นาย A นักแสดงชาวอเมริกัน ได้เข้ามาแสดงในการถ่ายทำภาพยนตร์ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยได้รับเงินได้เป็นค่าจ้างแสดงภาพยนตร์ ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงที่เป็นค่าที่พักและค่าอาหาร ดังนั้น นาย A ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษี เงินได้ในประเทศไทย แต่สำหรับค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยง ซึ่งได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น นาย A ย่อมได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยง อย่างไรก็ดี หากนาย A ได้รับเงินได้จากการแสดง ภาพยนตร์ในประเทศไทยไม่เกิน 100 ดอลล่าร์สหรัฐหรือเป็นเงินไทยในจำนวนเทียบเท่าต่อวัน หรือเป็นจำนวนรวมกันไม่เกิน 3,000 ดอลล่าร์สหรัฐหรือเป็นเงินไทยในจำนวนเทียบเท่าในปีภาษี นาย A ย่อมไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย

    นักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศมีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

    (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไปยื่นรายการและชำระภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.94

    (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมไปยื่นรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.90 ทั้งนี้ ให้นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีที่ชำระไว้ตาม (1) มาถือเป็นเครดิตภาษีในการเสียภาษี

    ข้อ 5 ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศตามข้อ 4 ให้คำนวณหักค่าใช้จ่ายตาม มาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้ พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ดังนี้

    (1) หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือ

    (2) หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังนี้

    (ก) สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60

    (ข) สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40

    การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท

    กรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ของนักแสดงภาพยนตร์ ต่างประเทศ ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือเอาเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี โดยให้ต่างฝ่ายต่างหักค่า ใช้จ่ายตามเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง

    ตัวอย่าง

    นาย ก และนาง ข เป็นนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศและเป็นสามีภริยากัน ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยนาย ก มี เงินได้พึงประเมิน 2,000,000 บาท และนาง ข มีเงินได้พึงประเมิน 500,000 บาท ดังนั้น นาย ก จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและชำระภาษีในนามของนาย ก โดยนำเงินได้ของนาง ข มารวมคำนวณภาษีด้วย และหากเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ให้หักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้

    - เงินได้ของนาย ก หักค่าใช้จ่ายได้จำนวน 600,000 บาท

    - เงินได้ของนาง ข หักค่าใช้จ่ายได้จำนวน 260,000 บาท

    รวมค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาที่มีสิทธิหักได้ 860,000 บาท

    ข้อ 6 ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศตามข้อ 4 ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนตาม มาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร

    กรณีนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนคู่สมรสและหรือบุตรได้ ไม่ว่าคู่สมรสและหรือบุตรจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่

    กรณีนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย จะคำนวณหักค่าลดหย่อนคู่สมรสและหรือบุตรได้ เฉพาะคู่สมรสและหรือบุตรที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

    คำว่า “ผู้อยู่ในประเทศไทย” หมายถึง บุคคลผู้อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

    ข้อ 7 คนต่างด้าวที่มีเงินได้พึงประเมินจากการเป็นนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เพื่อขอรับใบผ่าน ภาษีอากรภายในกำหนดเวลาไม่เกินสิบห้าวันก่อนออกเดินทาง ไม่ว่ามีเงินภาษีอากรที่ต้องชำระหรือไม่ตาม มาตรา 4 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

    ข้อ 8 การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้ผู้จ่ายเงินได้ให้แก่นักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ ดังนี้

    (1) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นซึ่งจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับรายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึง 10,000 บาท ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้ที่จ่าย เว้นแต่การจ่ายเงินได้ให้แก่นักแสดงภาพยนตร์ ต่างประเทศที่ได้จากการประกวดหรือแข่งขันให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตาม มาตรา 50(4) แห่งประมวลรัษฎากร

    (2) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือ นิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้คำนวณหักตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่การจ่ายเงินได้ให้แก่นักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศเฉพาะกรณีที่มีการดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย จากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าด้วยการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ ต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2544 ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 10.0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 9(2)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่ง ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.111/2545 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545

    กรณีนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศได้รับเงินได้จากการแสดงภาพยนตร์และได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 10.0 ตามวรรคหนึ่ง เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศจะเลือกไม่นำเงินได้จากการแสดงภาพยนตร์มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 4 ก็ได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

    ข้อ 9 การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ ต่างประเทศในประเทศไทย ให้นำเงินได้ของเจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หรือ (2) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

    เงินได้ของเจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยเงินได้พึงประเมินหรือค่าตอบแทน จากการประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ รางวัลและประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะจ่ายตามจำนวนคราวที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ จ่ายเป็นการเหมา หรือจ่ายในลักษณะอื่นทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะซึ่งเจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ ต่างประเทศในประเทศไทยได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น เจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะดังกล่าวตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร

    การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยตามวรรคหนึ่ง ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งตามมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร

    กรณีเจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

    ตัวอย่าง

    นาย B ผู้กำกับการแสดงชาวอเมริกันเป็นลูกจ้างของบริษัทผลิตภาพยนตร์แห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยได้รับเงินได้เป็นค่าจ้างกำกับการแสดง ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงที่เป็นค่าที่พักและค่าอาหาร ดังนั้น นาย B ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย แต่สำหรับค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยง ซึ่ง ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น นาย B ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยง อย่างไรก็ดี หากนาย B เข้ามาทำงานในประเทศไทยไม่เกิน 183 วัน เงินได้ที่ได้รับนั้นจ่ายโดยหรือในนามของนายจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกา และเงินได้นั้นไม่ตกเป็นภาระแก่สถานประกอบการที่นายจ้างมีอยู่ในประเทศไทย นาย B ย่อมไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย

    ข้อ 10 การเสียภาษีเงินได้ของผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และการหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้ประสานงานในการถ่ายทำ ภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ให้ปฏิบัติ ดังนี้

    (1) กรณีผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องนำเงินได้ที่ได้รับเฉพาะจากการติดต่อประสานงาน ในการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

    เงินได้ของผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยเงินได้พึงประเมินหรือ ค่าตอบแทนจากการติดต่อประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย รางวัลและประโยชน์ ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการติดต่อประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เช่น ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะจ่ายตามจำนวนคราวที่มีการติดต่อประสานงาน จ่ายเป็นการเหมา หรือจ่ายในลักษณะอื่นทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะ ซึ่งผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะดังกล่าวตามมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร

    การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยตามวรรคหนึ่ง ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งตามมาตรา 50(1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร

    (2) กรณีผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของ ต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย ต้องนำรายได้ที่ได้จากการติดต่อประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

    การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ ต่างประเทศในประเทศไทยตามวรรคหนึ่ง ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่ง ดังนี้

    (ก) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

    (ข) กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือ นิติบุคคลอื่น ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และ ข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.101/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่าย เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544

    (3) กรณีผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ที่ได้รับจากการติดต่อประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าตอบแทนในการติดต่อประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยเท่านั้น โดยให้ผู้จ่ายเงินได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หักภาษี นำส่งจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

    กรณีผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ให้ปฏิบัติตาม ข้อตกลงในอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้น ๆ

    ข้อ 11 การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

    (1) การให้บริการของนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฒ) แห่งประมวลรัษฎากร

    (2) การให้บริการของเจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยให้แก่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่เป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร

    (3) การให้บริการของผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร

    การจ่ายค่าบริการตาม (2) และ (3) ให้แก่ผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร

    (ก) ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยที่ได้เข้ามาดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

    (ข) ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยที่ได้เข้ามาดำเนินการติดต่อประสานงานในราชอาณาจักรเป็นการ ชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

    (ค) ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ประสานงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการติดต่อประสานงานในต่างประเทศ

    ข้อ 12 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก

    ข้อ 13 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป


    สั่ง ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

    ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

    อธิบดีกรมสรรพากร

    อธิบดีกรมสรรพากร