ป. 58/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้
    • Dark
      Light

    ป. 58/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้

    • Dark
      Light

    Article Summary

    คำสั่งกรมสรรพากร

    ที่ ป. 58/2538

    เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้


    เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและแนะนำกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

    ข้อ 1 กรณีที่ทรัพย์สินชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ แต่หากได้ทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้น ก็มีสิทธิ์ตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

    ในกรณีที่ขายทรัพย์สินนั้นไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องนำราคาขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

    ข้อ 2 กรณีที่ทรัพย์สินสูญหาย ซึ่งถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประสงค์จะตัดต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นเป็นรายจ่ายทั้งจำนวน ได้ดังนี้

    (ก) กรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ไว้ กรณีดังกล่าวถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้รับกลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินได้รับความเสียหายและกำลังรอการชดใช้จากบริษัทประกันภัย แต่ได้สิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีไปก่อน เช่นนี้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะตัดผลเสียหายดังกล่าวเป็นรายจ่ายทันทีไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมที่ได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยเสียก่อน ถ้าผลเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่มีสิทธิ์หักเป็นรายจ่ายได้ แต่ถ้าค่าชดใช้สูงกว่าความเสียหาย ผลต่างถือเป็นรายได้ จึงต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

    (ข) กรณีทรัพย์สินที่สูญหายนั้น ไม่มีการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ มูลค่าของต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้น ถือเป็นผลเสียหายจากการประกอบกิจการ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีสิทธิ์ตัดเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินนั้นได้สูญหายจริง


    สั่ง ณ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538

    จัตุมงคล โสณกุล

    อธิบดีกรมสรรพากร