ป. 8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
    • Dark
      Light

    ป. 8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

    • Dark
      Light

    Article Summary

    คำสั่งกรมสรรพากร

    ที่ ป. 8/2528

    เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ


    เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้างซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 3 มกราคมพ.ศ.2528 กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

    ข้อ 1 กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่ผู้รับจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 5.0 ของยอดเงินค่าจ้างที่จ่าย จะต้องปรากฎว่า

    (1) ผู้รับจ้างต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย

    (2) การประกอบกิจการในประเทศไทย ของผู้รับจ้างตาม (1) จะต้องมิใช่กรณีที่ผู้รับจ้างมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย และในกรณีที่ผู้รับจ้างมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ถือได้ว่าผู้รับจ้างมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย คือ

    (ก) มีสำนักงานในประเทศไทยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง

    (ข) มีการประกอบธุรกิจอย่างอื่นนอกจากการรับจ้างทำของในประเทศไทยเป็นประจำ เช่น การซื้อขายสินค้า

    “(ค) มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อลูกจ้างในประเทศไทยตามมาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร”

    (แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.10/2528 ใช้บังคับ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2528 เป็นต้นไป)

    (3) ผู้รับจ้างตาม (1) จะต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 76 ทวิ และมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

    ข้อ 2 กรณีผู้รับจ้างได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตนั้น แม้ผู้รับจ้างจะต้องจดทะเบียนการค้าในการประกอบกิจการดังกล่าว ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับจ้างมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นถาวรในประเทศไทย

    ข้อ 3 กรณีผู้รับจ้างมีสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยตามความหมายของคำว่า “สถานประกอบการถาวร” ที่กำหนดไว้ในความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศในกรณี เช่น กรณีผู้รับจ้างส่งลูกจ้างเข้ามาทำการติดตั้งเครื่องจักรให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทยชั่วระยะเวลาจำกัด กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าผู้รับจ้างมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในการถาวรในประเทศไทย


    สั่ง ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2528

    วิทย์ ตันตยกุล

    อธิบดีกรมสรรพากร