การเลิกกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเลิกกิจการและชำระบัญชีของบริษัท
    • Dark
      Light

    การเลิกกิจการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเลิกกิจการและชำระบัญชีของบริษัท

    • Dark
      Light

    Article Summary

    เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเลิกกิจการและชำระบัญชีของบริษัท


    ข้อเท็จจริง

    บริษัทฯ ขอหารือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากร กรณีการเลิกกิจการและชำระบัญชีของบริษัท

    ดังนี้

    1. ถ้าหากในระยะแรกที่บริษัทเลิกบริษัทคาดว่าจะยื่นงบการเงินและแบบ ภ.ง.ด.50 ได้ทัน

    ภายในกำหนดเวลา 150 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก จึงไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายเวลา

    ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ซึ่งต่อมาปรากฏว่าเกิน

    กำหนดเวลาสามสิบวันแล้วพบว่าไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่

    วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก จะต้องดำเนินการอย่างไร และมีความผิดต้องรับโทษหรือไม่

    2. ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการจะต้องจัดทำงบกำไรขาดทุนทางภาษีอากรขึ้นมา โดยใช้ราคา

    สินทรัพย์ที่มีอยู่ทุกประเภทตามราคาตลาด ตามมาตรา 74(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นรายได้

    และยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมนำส่งภาษี (ถ้ามี) ใช่หรือไม่ ทำให้งบกำไรขาดทุน ทางภาษีอากรจะเป็น

    งบกำไรขาดทุนตามที่ปรากฏใน ภ.ง.ด.50 เท่านั้น ซึ่งจะไม่ตรงกับงบกำไร ขาดทุนตามที่

    ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรอง เนื่องจากงบกำไรขาดทุนที่ผู้สอบ บัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและ

    รับรองนั้นสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ ณ วันเลิกยังไม่มีการจำหน่าย ออกไปจริง ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้อง

    หรือไม่ และกรณีบริษัทเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สินทรัพย์ที่มีอยู่ทุกประเภทต้องตีราคา

    ตามราคาตลาดและนำมาคำนวณเสียภาษี มูลค่าเพิ่มถูกต้องหรือไม่

    3. เมื่อบริษัทจัดทำงบเลิก ณ วันที่เจ้าพนักงาน (กระทรวงพาณิชย์) รับจดทะเบียนเลิกส่ง

    กรมสรรพากรภายในกำหนดเวลา 150 วัน ตามมาตรา 72 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

    ทรัพย์สินยังไม่ได้จำหน่ายจริง หนี้สินยังไม่ได้ชำระหมด ต้องมีการชำระบัญชีต่อจนสุดท้าย คืนทุน (ตาม

    ขั้นตอนของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ดังนี้

    (1) งบการเงินโดยเฉพาะงบกำไรขาดทุนที่เกิดจากการชำระบัญชีซึ่งอาจมีกำไรหรือ

    ขาดทุนอันเกิดจากการจำหน่ายสินทรัพย์จริง และราคาขายได้จริงอาจแตกต่างจากราคาตลาดที่ได้ตีไว้

    ตามมาตรา 74(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ในกรณีที่มีกำไรสุทธิ)

    ก่อนจะโอนปิดบัญชีกำไรขาดทุนแบ่งให้กับหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น บริษัทจะต้องยื่นงบดุลและแบบ

    ภ.ง.ด.50 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ายื่นเป็นงบดุล ณ วันใด และจะต้องเสีย

    เงินเพิ่มและเบี้ยปรับหรือไม่

    (2) เมื่อชำระบัญชีเสร็จ ซึ่งหมายถึงแบ่งสินทรัพย์คืนผู้เป็นหุ้นส่วนหรือ ผู้ถือหุ้นแล้วต้อง

    แจ้งกรมสรรพากรอีกหรือไม่

    4. บริษัทได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงพาณิชย์ว่าเลิกกิจการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ซึ่ง

    ตรงกับวันสิ้นรอบปีบัญชีตามปกติ จึงได้จัดทำงบวันที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2543 โดยระบุ ลงในงบด้วยว่า

    ณ วันเลิก และนำส่งกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ปรากฏว่า

    บริษัทได้นำมติที่ประชุมของผู้ถือหุ้นที่ให้เลิกบริษัทตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2543 ไปจดทะเบียนเลิกกับ

    เจ้าพนักงานผู้รับจดทะเบียนเลิกเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 โดยทำ คำชี้แจงสาเหตุของการนำมติ

    ที่ประชุมไปจดทะเบียนเลิกช้า กรณีนี้บริษัทยังคงต้องจัดทำงบ ณ วันเลิก (24 กรกฎาคม 2544) ตามที่

    ประมวลรัษฎากรกำหนดใช่หรือไม่ และมีความผิดต้องรับโทษหรือไม่


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    มาตรา 27, มาตรา 35, มาตรา 72, มาตรา 74, มาตรา 77/1(8)(ฉ), มาตรา 79/3(5), มาตรา 85/15

    แนววินิจฉัย

    1. กรณีที่บริษัทเลิกกิจการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีให้ถือวันที่เจ้าพนักงานรับ

    จดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่และ

    ความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของ

    รอบระยะเวลาบัญชี (วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก) ถ้าผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการไม่สามารถยื่น

    รายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และไม่ได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่

    เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการยังคงมีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีต่อ

    กรมสรรพากร ดังนั้น หากบริษัทไม่ได้ยื่นคำร้องและได้ยื่นรายการพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด บริษัท

    ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย ตาม

    มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องระวางโทษปรับอาญา กรณีไม่ยื่นรายการภายในกำหนดเวลา

    ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร

    2. กรณีที่บริษัทเลิกกิจการ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ

    ทรัพย์สินที่คงเหลืออยู่ให้ใช้ราคาตลาดตามมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีที่บริษัทเป็น

    ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าคงเหลือและ

    หรือทรัพย์สินที่บริษัทมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ตามมาตรา 77/1(8)(ฉ)

    แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิก

    ประกอบกิจการ ตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาด

    ในวันเลิกประกอบกิจการ ตามมาตรา 79/3(5) แห่งประมวลรัษฎากร

    3. กรณีที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกบริษัทและบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี

    ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก) แล้ว แม้

    บริษัทจะได้เลิกกันแล้วแต่การชำระบัญชียังไม่เสร็จสิ้น ให้ถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น

    เพื่อการชำระบัญชี ตามมาตรา 1249 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทจึงยังมีหน้าที่ยื่น

    แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 พร้อมงบการเงินต่อไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนการ

    ชำระบัญชีแล้วเสร็จโดยมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (วันที่

    เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก) และหากบริษัทได้ชำระภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว บริษัทไม่ต้องรับผิด

    เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด

    สำหรับกรณีที่บริษัทชำระบัญชีแล้วเสร็จ บริษัทจะมีหนังสือแจ้งสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่บริษัทตั้ง

    อยู่ว่าบริษัทชำระบัญชีแล้วเสร็จก็ได้

    4. กรณีที่บริษัทเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมิน

    ทราบการเลิกของบริษัทนั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่

    ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานประเมินอาจสั่งให้บริษัทเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย

    และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีให้ถือวันที่ เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของ

    รอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากเจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก

    วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 ก็ต้องถือวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

    และบริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำงบการเงิน ณ วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก (24 กรกฎาคม 2544)

    และยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีภายในกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของ

    รอบระยะเวลาบัญชี




    ที่มา:

    หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/587 ลงวันที่ 20 มกราคม 2546