เงินได้/ค่าสิทธิ ภาษีอากร กรณีการสนับสนุนการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2548 ในประเทศไทย
    • Dark
      Light

    เงินได้/ค่าสิทธิ ภาษีอากร กรณีการสนับสนุนการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2548 ในประเทศไทย

    • Dark
      Light

    Article Summary

    เรื่อง ภาษีอากร กรณีการสนับสนุนการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2548 ในประเทศไทย


    ข้อเท็จจริง

    ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาสนับสนุนยกเว้นภาษีอากรกรณีการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2548 โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้

    1. บริษัท ม. ได้ร่วมลงทุนและประสานความร่วมมือกับบริษัท ก จำกัด และบริษัท ข จำกัด (“ผู้จัดงาน”) เพื่อจัดงานประกวดนางงามจักรวาล โดยคณะผู้จัดงานได้ทำสัญญากับบริษัท M สถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2548 พร้อมชำระค่าสิทธิในการจัดงานประกวดนางงามจักรวาล ตลอดจนออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่ บริษัท M ตามเงื่อนไขของสัญญาฯ กรณีดังกล่าวทำให้คณะผู้จัดงานได้รับสิทธิอย่างสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียวในการจัดงานประกวดนางงามจักรวาลจาก บริษัท M ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License Agreement)

    2. เนื่องจากบริษัท M กำหนดให้ผู้จัดงานเป็นผู้รับภาระภาษีอากรทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้กับบริษัท M และบุคลากรต่าง ๆ ที่เข้ามาในนามของบริษัท M เช่น ผู้เข้าประกวดจาก 180 ประเทศ คณะกรรมการจัดงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม ซึ่งภาระภาษีดังกล่าวจะเป็นต้นทุนของผู้จัดงาน

    3. ผู้จัดงานขอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษี

    เงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้กับบริษัท M และบุคลากรต่าง ๆ


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    มาตรา 40(2) มาตรา 40(8) มาตรา 41 มาตรา 70 มาตรา 77/2 มาตรา 83/6(2)

    แนววินิจฉัย

    1. กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    1.1 ผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาล เงินได้ที่ผู้เข้าประกวดซึ่งเป็นชาวต่างประเทศได้จากการประกวดนางงามจักรวาลในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จัดงานซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จ่ายเงินรางวัลในการประกวดให้แก่ผู้เข้าประกวด ผู้จัดงานมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

    1.2 คณะกรรมการจัดงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ

    เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้รับ

    เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร

    2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล

    เนื่องจากบริษัท M เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ได้รับเงินค่าสิทธิในการจัดงานประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2548 ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License Agreement) ที่จ่ายจากประเทศไทย เงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ผู้จัดงานจึงมีหน้าที่หักภาษีไว้ตามอัตราดังต่อไปนี้

    (1) ร้อยละ 5 ของจำนวนเงินค่าสิทธิ สำหรับการถ่ายทอดการประกวดนางงามจักรวาล

    (2) ร้อยละ 15 ของจำนวนเงินค่าสิทธิ สำหรับการใช้เครื่องหมายการค้า

    ทั้งนี้ ผู้จัดงานซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 วรรคสอง (ก) และ (ค) และวรรคสาม (ก) และ (ค) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505

    3. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

    กรณีผู้จัดงานจ่ายเงินค่าสิทธิในการจัดงานประกวดนางงามประจำปี 2548 ให้แก่

    บริษัท M ซึ่งเป็นผู้ให้สิทธิแก่ผู้จัดงานในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ

    ผู้จัดงานจ่ายเงินค่าบริการตามสัญญาฯ จึงต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร

    4. กรณีผู้จัดงานขอให้กรมสรรพากรออกมาตรการการยกเว้นภาษีอากรให้กับบริษัท M ผู้เข้าประกวด คณะกรรมการจัดงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ติดตามซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ กรมสรรพากรเห็นว่า เรื่องทำนองเดียวกันนี้ เช่น การจัดการแข่งขันกอล์ฟ การจัดแข่งขันชกมวย

    ชิงแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทในประเทศไทย ซึ่งเป็นรายการใหญ่ ๆ ที่ได้จัดขึ้นในประเทศไทย กรมสรรพากรมิได้มีการยกเว้นภาษีอากรให้แก่การจัดการแข่งขันแต่อย่างใด ประกอบกับในอนาคต ประเทศไทยจะมีการจัดการแข่งขันในลักษณะทำนองเดียวกันนี้อีกหลายรายการ กรณีดังกล่าวจึงเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะยกเว้นภาษีอากรตามที่ผู้จัดงานร้องขอแต่อย่างใด




    ที่มา:

    หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/1108 ลงวันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2548