คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10135/2539
    • Dark
      Light

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10135/2539

    • Dark
      Light

    Article Summary

    จำเลย - กรมสรรพากร กับพวก

    โจทก์ - พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร


    ชื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ป.รัษฎากร ม. 6, ม. 19, ม. 20, ม. 23, ม. 24, ม. 40 (4), ม. 40 (8), ม. 42 (14), ม. 49, ม. 50, ม. 56 วรรคท้าย

    ป.วิ.พ. ม. 225, ม. 249

    พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 29



    คำพิพากษาย่อสั้น

    ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีอากรไม่ชอบด้วยมาตรา49แห่งประมวลรัษฎากรเพราะมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีนั้นแม้จะมิใช่ปัญหาที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินมิได้ใช้วิธีพิเศษกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นเองโดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณาซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา49แต่เป็นกรณีออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งประเมินตามวิธีปกติตามมาตรา19,20,23,24แห่งประมวลรัษฎากรจึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร โจทก์มอบเงินจำนวน15,000,000บาทให้ด. ไปหาผลประโยชน์ร่วมกับบุคคลอื่นแล้วด. ได้นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นดังกล่าวไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนต่างๆต่อมาด. จึงได้นำเงินมาคืนให้โจทก์จำนวน16,301,946.48บาทซึ่งแม้โจทก์จะได้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน1,301,946.48บาทน่าเชื่อว่าเป็นเงินดอกเบี้ยจากตั๋วเงินที่ด. นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินและโจทก์ก็อ้างว่าด. ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้วซึ่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา50ก็ได้บัญญัติให้บริษัทผู้จ่ายดอกเบี้ยตั๋วเงินหักภาษีณที่จ่ายไว้เมื่อด. ในฐานะผู้จัดการของคณะบุคคลที่มอบหมายให้นำเงินไปหาผลประโยชน์ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้อีกตามประมวลรัษฎากรมาตรา6,42(14)และ56วรรคสุดท้าย เช็คของขวัญที่โจทก์ได้รับในปี2533จำนวน46ฉบับรวมเป็นเงิน83,102,500บาทนั้นโจทก์นำสืบว่าบริษัทส. จำกัดมอบให้โจทก์เป็นค่าซื้อที่ดินโดยบริษัทส. รับเช็คของขวัญดังกล่าวมาจากลูกค้าของบริษัทอีกต่อหนึ่งเช่นนี้แม้บริษัทส. จะได้ซื้อที่ดินจากโจทก์เป็นเงินถึง85,000,000บาทเศษดังที่โจทก์นำสืบจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทส. จะต้องชำระค่าที่ดินให้โจทก์โดยใช้เช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับโดยเฉพาะเป็นเช็คของขวัญที่มิใช่เช็คของบริษัทเองหรือแคชเชียร์เช็คซึ่งน่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่าดังนี้เมื่อพยานหลักฐานโจทก์พิรุธไร้น้ำหนักไม่น่าเชื่อการที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือว่าเงินตามเช็คดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา40(8)ของโจทก์จึงชอบแล้ว


    คำพิพากษาย่อยาว

    โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้า หากเห็นว่าโจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้เพิ่มเติมก็ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มแก่โจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภ.ง.ด.12ที่ 1770/1/100412, ที่ 1770/1/100413, ที่ 1770/1/100414,ที่ 1770/1/100415 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 319ข/2537/1, เลขที่ 319ค/2537/1เลขที่ 319ง/2537/1, เลขที่ 319จ/2537/1 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2537เฉพาะในส่วนที่ประเมินและวินิจฉัยว่าเงินที่โจทก์ได้รับจากนายเดช บุญหลง จำนวน 5 ครั้ง รวม 16,301,946.48 บาทเงินที่ได้รับเป็นเช็คของขวัญจำนวน 46 ฉบับ รวม 83,106,500 บาทและเงินที่ได้รับจากพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ จำนวน 1,000,000 บาทเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกโจทก์ และ จำเลย ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และ ที่ 5 อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์มีว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากนายวิจิตร ชวนะนันท์ ในปี 2532จำนวน 10,000,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางว่าเงินดังกล่าวนายวิจิตรกู้ยืมไปจากภริยาโจทก์แล้วนำมาชำระคืนแก่โจทก์ การที่โจทก์มิได้นำภริยาโจทก์มาเบิกความในฐานะเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืม ก็ไม่ทำให้คำเบิกความของโจทก์และนางสราญรับฟังไม่ได้ว่านายวิจิตรได้กู้ยืมเงินจากภริยาโจทก์และใช้คืนมาจริง เพราะทั้งโจทก์และนางสราญเป็นประจักษ์พยานรู้เรื่องทั้งหมดด้วยตนเอง คำเบิกความของโจทก์และนางสราญย่อมมีน้ำหนัก นอกจากนั้นโจทก์ยังมีนายพิษณุบุตรชายนายวิจิตรเบิกความสนับสนุนว่านายวิจิตรเคยกู้ยืมเงินภริยาโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเงินจำนวน10,000,000 บาท ที่โจทก์ได้รับในปี 2532 เป็นเงินที่นายวิจิตรใช้คืนโจทก์ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากร นั้น เห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสามปากจะเบิกความสอดคล้องกันก็เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าว อีกทั้งหลักฐานการกู้ยืมก็ไม่มี ตัวเงินที่ให้กู้ยืมนำมาจากแหล่งใดก็ไม่ปรากฏ การกู้ยืมเงินจำนวนมากโดยปราศจากหลักฐานหลักประกันเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล ที่ศาลภาษีอากรกลางตำหนิพยานหลักฐานโจทก์และไม่เชื่อพยานที่โจทก์นำสืบชอบแล้วส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินภาษีอากรไม่ชอบด้วยมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะมิได้รับอนุมัติจากอธิบดีนั้นแม้จะมิใช่ปัญหาที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ เห็นว่าคดีนี้เจ้าพนักงานประเมินมิได้ใช้วิธีพิเศษกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นเองโดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งประเมินตามวิธีปกติตามมาตรา 19, 20, 23, 24แห่งประมวลรัษฎากรส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ในปัญหาแรกว่า เงินที่โจทก์ได้รับระหว่างปี 2532 ถึงปี 2534 รวมเป็นเงิน16,301,946.48 บาท จากนายเดช บุญหลง เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ใช่เงินใช้คืนจากการที่โจทก์มอบให้นายเดชนำไปหาผลประโยชน์ให้ เพราะโจทก์ไม่มีหลักฐานการมอบเงินให้นายเดชไปหาผลประโยชน์ ทั้งการที่นายเดชคืนเงินโจทก์ นายเดชสามารถออกเช็คมอบให้โจทก์ได้โดยตรง ไม่จำต้องให้นางสาวอุไรและนางสาวนันทิยาไปซื้อแคชเชียร์เช็คเพื่อมอบให้โจทก์ โจทก์ไม่จำเป็นต้องให้นายเดชหาผลประโยชน์ให้ เพราะโจทก์สามารถหาผลประโยชน์ได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว เงินที่โจทก์ได้รับจากนายเดชเป็นเงินแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทอุตสาหกรรมทอผ้าไทย จำกัดบริษัทที.ที.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด ทั้งโจทก์และนายเดชต่างเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว โดยนายเดชเป็นประธานกรรมการมีอำนาจลงนามร่วมกับกรรมการอีกคนหนึ่งทำการแทนบริษัทดังกล่าวได้นางสาวอุไรและนางสาวนันทิยาผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คต่างเป็นพนักงานของบริษัทอุตสาหกรรมทอผ้าไทย จำกัด เงินได้ของโจทก์จำนวนนี้จึงเป็นเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ต้องชำระภาษีอากรให้จำเลยที่ 1 เห็นว่า แม้การมอบเงินของโจทก์ให้นายเดชไปหาผลประโยชน์ดังที่โจทก์นำสืบจะปราศจากพยานหลักฐานการมอบเงินแต่โจทก์ก็นำนายเดชผู้รับมอบมาเบิกความสนับสนุน ที่โจทก์อ้างเหตุความไว้เนื้อเชื่อใจนายเดชก็มีน้ำหนักรับฟังได้ เห็นได้จากการที่โจทก์สละตำแหน่งในบริษัทการค้าต่าง ๆ ให้นายเดชดำรงตำแหน่งแทนเมื่อโจทก์ต้องไปเล่นการเมือง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินเนื่องจากการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทนั้น เห็นว่าข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ปราศจากหลักฐานที่มีน้ำหนักสนับสนุนส่วนการที่นายเดชให้นางสาวอุไรและนางสาวนันทยาไปซื้อแคชเชียร์เช็คมอบให้โจทก์แทนที่จะออกเช็คของตนมอบให้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะรับฟังเสมอไปว่าเงินที่โจทก์ได้รับเป็นเงินแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัทแต่อย่างใดจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คาดเดาเหตุการณ์เอาเองข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์มอบเงินจำนวน15,000,000 บาท ให้นายเดชไปหาผลประโยชน์ร่วมกับบุคคลอื่นแล้วนายเดชได้นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นดังกล่าวไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทเงินทุนต่าง ๆ ต่อมานายเดชจึงได้นำเงินมาคืนให้โจทก์จำนวน 16,301,946.48 บาท ซึ่งแม้โจทก์จะได้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 1,301,946.48 บาท ก็น่าเชื่อว่าเป็นเงินดอกเบี้ยจากตั๋วเงินที่นายเดชนำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน และโจทก์ก็อ้างว่านายเดชได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้ว ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50ก็ได้บัญญัติให้บริษัทผู้จ่ายดอกเบี้ยตั๋วเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จึงน่าเชื่อว่านายเดชในฐานะผู้จัดการของคณะบุคคลที่มอบหมายให้นำเงินไปหาผลประโยชน์ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้อีก ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 6 มาตรา 42(14) และมาตรา 56 วรรคสุดท้ายปัญหาตามอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ต่อไปมีว่า เช็คของขวัญที่โจทก์ได้รับในปี 2533 จำนวน 46 ฉบับรวมเป็นเงิน 83,102,500 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เช็คของขวัญจำนวนนี้โจทก์นำสืบว่าบริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด มอบให้โจทก์เป็นค่าซื้อที่ดินโดยบริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด รับเช็คของขวัญดังกล่าวมาจากลูกค้าของบริษัทอีกต่อหนึ่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้บริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด จะได้ซื้อที่ดินจากโจทก์เป็นเงินถึง 85,000 บาทเศษ ดังที่โจทก์นำสืบจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัทสหมิตรการบริหาร จำกัด จะต้องชำระค่าที่ดินให้โจทก์โดยใช้เช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับ โดยเฉพาะเป็นเช็คของขวัญที่มิใช่เช็คของบริษัทเองหรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งน่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่า พยานหลักฐานโจทก์จึงมีพิรุธไร้น้ำหนักไม่น่าเชื่อ การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือว่าเงินตามเช็คดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) โจทก์ต้องเสียภาษีอากรจึงชอบแล้วสำหรับอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ปัญหาสุดท้ายที่ว่า เงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์มอบให้โจทก์ในปี 2534 เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5อุทธรณ์ว่า คำเบิกความของโจทก์และพลอากาศเอกสมบุญเกี่ยวกับหุ้นที่โจทก์ซื้อในนามพลอากาศเอกสมบุญแตกต่างกันเป็นพิรุธรับฟังไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของโจทก์และพลอากาศเอกสมบุญแตกต่างกันเฉพาะในรายละเอียดราคาค่าหุ้นเท่านั้น คำเบิกความที่แตกต่างกันดังกล่าวไม่ถึงขนาดจะรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อหุ้นในนามพลอากาศเอกสมบุญจริง อีกทั้งโจทก์ก็ได้รับเช็คจำนวนเงิน 1,000,000 บาท มาจากพลอากาศเอกสมบุญจริง พลอากาศเอกสมบุญก็ยืนยันว่าเป็นการชำระค่าหุ้นที่ซื้อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบหักล้างที่จะทำให้รับฟังเป็นอื่นได้ พยานหลักฐานที่โจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเงินได้จำนวนนี้ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรชอบแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์สำหรับเงินที่โจทก์ได้รับเป็นเช็คของขวัญจำนวน 46 ฉบับ จำนวนเงิน 83,102,500 บาท ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง


    ชื่อองค์คณะ

    ชื่อองค์คณะ: ปราโมทย์ ชพานนท์ ยงยุทธ ธารีสาร จำลอง สุขศิริ

    ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน: ไม่ได้ระบุ

    แหล่งที่มา

    แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา