คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2540
    • Dark
      Light

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2540

    • Dark
      Light

    Article Summary

    จำเลย - นาย ไพบูลย์ บุญ แก้ว สุข กับพวก

    โจทก์ - บริษัท เต็ก แสง ยางพารา จำกัด


    ชื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    ป.รัษฎากร ม. 65 ทวิ (4), บัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 11



    คำพิพากษาย่อสั้น

    บริษัทโจทก์ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่นผู้ถือหุ้นเดิมต้องการถอนหุ้นคืน มีคนร้ายขู่เรียกค่าคุ้มครองจนผู้จัดการบริษัทโจทก์ลาออก ในที่สุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นและกรรมกรรมของโจทก์จึงมีมติให้เลิกกิจการและขายทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหมดโดยเฉพาะทรัพย์สินรายการที่สองซึ่งเป็นโรงงานนั้นตั้งอยู่บนที่ดินที่เช่ามาจากบริษัทล.ซึ่งสัญญาเช่าที่ดินจะสิ้นสุดลงในวันสิ้นปีนั้นเอง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หาคนซื้อทรัพย์สินรายการที่สองได้ยาก เพราะไม่มีความแน่นอนว่าผู้ให้เช่าที่ดินจะให้เช่าต่อหรือไม่ โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่มีอำนาจต่อรองราคากับผู้ซื้อ จึงตกลงขายทรัพย์สินตามรายการที่สองถึงที่ห้าให้แก่บริษัทย. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์อยู่ด้วย โดยตกลงขายทรัพย์สินรายการที่สองถึงห้าให้ในลักษณะเป็นการเหมา ซึ่งมีทั้งรายการที่ขายต่ำกว่าราคาทุนและรายการที่ขายสูงกว่าต้นทุนมาก เช่นทรัพย์สินตามรายการที่สี่ เครื่องมือเครื่องใช้ขายไปในราคา7,793,000 บาท ราคาต้นทุน 2,438,762.29 บาท สูงกว่าราคาต้นทุนถึง 5,354,237.71 บาท สำหรับการขายโรงงานซึ่งเป็นทรัพย์สินตามรายการที่สองนั้นโจทก์ขายให้บริษัท ย.ในราคา 13,149,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ซื้อจะต้องรับคนงานทั้งหมดของโจทก์เข้าไปทำงานด้วยทำให้โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเป็นเงินจำนวนประมาณ7,000,000 บาท เมื่อเทียบจำนวนเงินที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายดังกล่าวและราคาที่โจทก์ขายทรัพย์สินรายการที่สี่ได้สูงกว่าราคาต้นทุนดังกล่าวแล้ว ฟังได้ว่าโจทก์ขายทรัพย์สินตามรายการที่สองไปต่ำกว่าราคาต้นทุนหรือราคาตลาดโดยมีเหตุผลอันสมควรเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบที่จะประเมินราคาขายอาคารโรงงานดังกล่าวใหม่ โดยถือราคาต้นทุนทางบัญชีของโจทก์จำนวน20,008,058,47 บาท เป็นราคาตลาดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4) ได้ แม้ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะปรากฏว่าโจทก์จดทะเบียนว่ามีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อหากำไรหรือเป็นทางการค้ามาก่อน ทั้งปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่ใช้ในการประกอบกิจการของโจทก์ไปเพราะเลิกกิจการการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 11การค้าอสังหาริมทรัพย์


    คำพิพากษาย่อยาว

    โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 8027/2/100085 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 8027/2/100224 ลงวันที่ 8 กันยายน 2537 กับเพิกถอนการประเมินภาษีการค้าตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ 8027/100015 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 8027/4/100225 ลงวันที่ 8 กันยายน 2537จำเลยทั้งสามให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้องศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ 8027/2/100085ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 8027/2/100224 ลงวันที่ 8 กันยายน 2537 และเพิกถอนการประเมินภาษีการค้าตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ 8027/4/100015 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 8027/4/1000225ลงวันที่ 8 กันยายน 2537 เสียจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้ายางพารา รมยาง และทำยางเครฟ 2 แห่งแห่งแรกตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเช่าจากบริษัทล่ำฮั้ว จำกัด เลขที่ 64 หมู่ที่ 3 ตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชและโรงงานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 51 หมู่ที่ 2 ตำบลชะมายอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช บนที่ดินของโจทก์เองในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 โจทก์ขายทรัพย์สินรวม 5 รายการ คือ ที่ดินที่ตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 9 โฉนด พร้อมทั้งโรงงานซึ่งอยู่บนที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 3,150,000 บาท ราคาต้นทุน 710,800 บาท รายการที่สองขายอาคารโรงงานและเครื่องจักรซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเช่าจากบริษัทล่ำฮั้ว จำกัด เป็นเงิน13,149,000 บาท จากราคาต้นทุนตามบัญชี 21,008,058.47 บาท รายการที่สามเป็นยานพาหนะเป็นเงิน 1,300,000 บาท ราคาต้นทุน1,189,908.35 บาท รายการที่สี่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ซึ่งรวมเครื่องจักรด้วยเป็นเงิน 7,793,000 บาท ราคาต้นทุน 2,438,762.19 บาท รายการที่ห้าเป็นเครื่องใช้สำนักงานเป็นเงิน 158,000 บาท ราคาต้นทุน 163,832.09 บาท ทั้งนี้โจทก์ขายทรัพย์สินรายการที่สองถึงรายการที่ห้าให้แก่บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 โจทก์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เป็นเงิน 1,326,636.47 บาท โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายดังกล่าวเป็นเงิน 1,391,849.62 บาทเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า โจทก์ขายทรัพย์สินรายการที่สอง คืออาคารโรงงานเลขที่ 64 ในราคาต่ำกว่าต้นทุนทางบัญชีเป็นเงิน 7,859,058.47บาท เป็นการขายที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงประเมินราคาขายอาคารโรงงานดังกล่าวใหม่โดยถือราคาต้นทุนทางบัญชีของโจทก์จำนวน 21,008,058.47 บาท เป็นราคาตลาด ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(4) เมื่อปรับปรุงกำไรสุทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 เป็นเงิน2,713,554.98 บาท เมื่อหักภาษีที่ได้หัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จำนวน1,326,636.47 บาท โจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่ม 1,386.51 บาท รวมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายโดยคำนวณถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2536เป็นเงินทั้งสิ้น 3,668,399.13 บาท จึงแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังโจทก์และเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าการขายที่ดินและอาคารโรงงานเลขที่ 64 ของโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์แต่โจทก์มิได้เสียภาษีการค้าจึงแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าสำหรับการขายทรัพย์สินทั้งสองรายการเป็นค่าภาษี845,532.04 บาท เมื่อรวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายคำนวณถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 และภาษีท้องถิ่นแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น2,540,144.85 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินดังกล่าว จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ปลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บตามแบบแจ้งการประเมินโดยให้เหตุผลในการวินิจฉัยว่า ตามหลักฐานที่ตรวจสอบไต่สวน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ (โจทก์) ขายโรงงานพร้อมอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องใช้ในโรงงานเพราะมีเหตุจำเป็นและการขายมีลักษณะเป็นการขายเหมา มิใช่แยกขายเป็นสิ่ง ๆ การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินราคาทรัพย์สินบางรายการเพิ่มขึ้น เฉพาะรายการที่ได้ประโยชน์สูงสุด เป็นการขัดกับข้อเท็จจริงและไม่เป็นธรรมจึงเป็นการไม่ชอบ สำหรับภาษีการค้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดภาษีการค้าที่เรียกเก็บลง และลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ50 คงเหลือภาษีการค้า เบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีท้องถิ่นที่เรียกเก็บเป็นเงิน 1,398,850 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่า โจทก์ขายทรัพย์สินรายการที่สองคืออาคารโรงงานและเครื่องจักรซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเช่ามาจากบริษัทล่ำฮั้ว จำกัด ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ในข้อนี้โจทก์มีนางพรทิพย์ พิพัฒนกุล ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความว่า ในปี 2532 บริษัทโจทก์ประสบปัญหาต่าง ๆ เช่นผู้ถือหุ้นเดิมต้องการถอนหุ้นคืนมีคนร้ายขู่เรียกค่าคุ้มครองจนผู้จัดการบริษัทโจทก์ลาออก ในที่สุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นและกรรมการของโจทก์จึงมีมติให้เลิกกิจการและขายทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหมดทรัพย์สินรายการแรกขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดวงศ์ธนกุล เป็นเงิน3,150,000 บาท ราคาต้นทุน 710,800 บาท สำหรับรายการที่สองถึงที่ห้าขายให้แก่บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด โดยเฉพาะทรัพย์สินรายการที่สองซึ่งเป็นโรงงานนั้นตั้งอยู่บนที่ดินที่เช่ามาจากบริษัทล่ำฮั้ว จำกัด ซึ่งสัญญาเช่าที่ดินจะสิ้นสุดลงใน วันที่ 31 ธันวาคม 2532 จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หาคนซื้อทรัพย์สินรายการที่สองได้ยาก เพราะไม่มีความแน่นอนว่าผู้ให้เช่าที่ดินจะให้เช่าต่อหรือไม่ โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่มีอำนาจต่อรองราคากับผู้ซื้อจึงตกลงขายทรัพย์สินตามรายการที่สองถึงที่ห้าให้แก่บริษัทยางไทยปักษ์ใต้จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์อยู่ด้วย โดยตกลงขายทรัพย์สินรายการที่สองถึงห้าให้ในลักษณะเป็นการเหมาซึ่งมีทั้งรายการที่ขายต่ำกว่าราคาทุนและรายการที่ขายสูงกว่าต้นทุนมาก เช่นทรัพย์สินตามรายการที่สี่ เครื่องมือเครื่องใช้ขายไปในราคา7,793,000 บาท ราคาต้นทุน 2,438,762.29 บาท สูงกว่าราคาต้นทุนถึง5,354,237.71 บาท สำหรับการขายทรัพย์สินตามรายการที่สองนั้น โจทก์ขายให้บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ จำกัด โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ซื้อจะต้องรับคนงานทั้งหมดของโจทก์เข้าไปทำงานด้วยทำให้โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเป็นเงินจำนวนประมาณ 7,000,000 บาทเมื่อเทียบจำนวนเงินที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายดังกล่าวและราคาที่โจทก์ขายทรัพย์สินรายการที่สี่ได้สูงกว่าราคาต้นทุนดังกล่าวแล้วฟังได้ว่าโจทก์ขายทรัพย์สินตามรายการที่ 2ไปต่ำกว่าราคาต้นทุนหรือราคาตลาดโดยมีเหตุผลอันสมควรมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในประการสุดท้ายว่า การขายอาคารโรงงานของโจทก์ตามทรัพย์สินรายการที่หนึ่งและที่สองเป็นการขายทางการค้าหรือหากำหนด ซึ่งโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครศรีธรรมราชจะปรากฏว่าโจทก์จดทะเบียนว่ามีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อหากำไรหรือเป็นทางการค้ามาก่อน ทั้งปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามว่าโจทก์มีความจำเป็นต้องขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่ใช้ในการประกอบการของโจทก์ไปเพราะเลิกกิจการการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไรโจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 11การค้าอสังหาริมทรัพย์พิพากษายืน


    ชื่อองค์คณะ

    ชื่อองค์คณะ: สันติ ทักราล ยงยุทธ ธารีสาร ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์

    ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน: ไม่ได้ระบุ

    แหล่งที่มา

    แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา